นำเข้าสินค้าจากจีน เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการคนไทยหลายคนสนใจ เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าโดยตรง มีสินค้าให้เลือกมากมาย หลายราคาและคุณภาพ จึงนิยมนำจำหน่ายต่อหรือใช้เอง โดยเฉพาะยิ่งซื้อมาก ยิ่งได้ราคาต้นทุน
หากแต่การนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมาเนื่องจากต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโคโรนา จวบจนกระทั่งบัดนี้ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ขรุขระเช่นนี้ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้นำด้าน E-Commerce ของจีนอย่าง Alibaba และ JD.com หรือ Jingdong นั้น ยังคงมีความแข็งแกร่งทางด้านธุรกิจ จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีการชะลอตัวของทั้งสองบริษัทแต่อย่างใด
First Taobao จึงมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโมเดลทางธุรกิจของ Alibaba และ JD ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจด้าน E-Commerce มาดูกันว่าเหตุใด ทั้งสองผู้นำยักษ์ใหญ่นี้ จึงประสบความสำเร็จในระดับโลกและครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อยู่หมัด
คู่แข่งทางธุรกิจที่สูสี และโมเดลทางธุรกิจที่น่าสนใจ
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้จักเหมือนๆ กันระหว่าง Alibaba กับ JD คือ ทั้งคู่เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่มีชื่อเสียงของจีน แต่ทั้งสองแบรนด์นี้ต่างมีโมเดลทางธุรกิจที่แตกต่างกันบางประการ อาทิ Alibaba เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ล้วนๆ รายได้จะมาจากค่าธรรมเนียมและค่าโฆษณา ในขณะที่ JD ลงทุนอย่างมากในการสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ทั่วประเทศจีน และเป็นเจ้าของสินค้าทางด้านกายภาพ แม้ว่าผลกำไรจะน้อยกว่าของ Alibaba แต่ JD สามารถควบคุมคุณภาพของประสบการณ์ลูกค้าได้ดีกว่า อีกทั้งได้มุ่งเน้นไปสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับลูกค้าที่มีรายได้สูง
ทั้งสองบริษัทค่อยๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย Alibaba เจ้าของเว็บไซต์ Taobao Tmall และ 1688 สามารถทำกำไรได้มากจากธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ และมีการลงทุนมากขึ้นโดยผสมผสานความเป็นร้านค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ในเวลาต่อมาได้สร้างซูเปอร์มาร์เก็ต Hema Supermarkets และซื้อแพลตฟอร์มสั่งอาหาร Ele.me ตลอดจนรวบรวมพันธมิตรด้านการขนส่งเพื่อลบจุดอ่อนด้านการขนส่งที่เคยมี และสร้างบริษัทชื่อ Cainiao เพื่อบริหารจัดการข้อมูลอันมหาศาล รวมทั้งจัดการด้านการขนส่ง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การใช้บริการของบริษัทขนส่งที่เป็นพันธมิตรกัน
Alibaba จัดเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความหลากหลาย แตกแขนงธุรกิจออกไปหลายด้าน และถือเป็นผู้นำจีนทางด้าน Cloud Computing (บริการที่ครอบคลุมถึงการให้ใช้กำลังประมวลผล หน่วยจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆ จากผู้ให้บริการ เพื่อลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเอง) และยังเป็นผู้นำรายใหญ่ในวงการบันเทิง มีเว็บไซต์สตรีมวีดิโอชื่อดังอย่าง Youku Tudou ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เป็นทั้งพอร์ทัลให้วีดิโอที่ผู้ใช้สร้างขึ้น และสตรีมภาพยนตร์และซีรีย์ลิขสิทธิ์ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวนี้ ถือว่ามีกำไรที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มหลักในหลายๆ กรณี
สำหรับ JD.com กลับมีโมเดลที่ต่างกันออกไปโดยโฟกัสที่แพลตฟอร์ม E-Commerce เป็นหลักและธุรกิจโลจิสติกส์ โดย JD เลือกลงทุนระบบขนส่ง ทั้งเรื่องรถขนส่ง การจ้างคน และคลังสินค้าที่มีเป็นของตนเองหรือเรียกว่าใช้รูปแบบธุรกิจ Direct Model ซึ่งโมเดลธุรกิจของ JD มีความคล้ายคลึงกับของ Amazon ปัจจุบัน JD มีเครือข่ายคลังสินค้าของตัวเองมากกว่า 600 แห่งใน 28 เมือง หรือเรียกได้ว่าทั่วประเทศจีนก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จาก Nikkei Asian Review ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ JD มีการเติบโตอย่างน้อย 10% สำหรับสถานการณ์โควิด-19 เนื่องมาจาก JD มีรถขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และมีสต็อกสินค้าของตัวเอง ทำให้สามารถขายของและส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันท่วงที ตรงกันข้ามกับ Alibaba และ Cainiao ที่ยังต้องพึ่งพาสต็อกสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าในแพลตฟอร์มของ Alibaba และผู้ให้บริการขนส่งที่เป็นพันธมิตรกัน ทำให้พบปัญหาที่ไม่สามารถส่งของได้ทันความต้องการในช่วงเกิดวิกฤต ทั้งๆ ที่ Alibaba น่าจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์การจัดส่งที่ขรุขระในช่วงเทศกาล 11.11 ที่ผ่านมา
เปรียบเทียบรายได้และกำไรเฉลี่ยต่อปีระหว่าง Alibaba และ JD.com
ถึงอย่างนั้น เมื่อดูจากรายได้เฉลี่ยต่อปีของ Alibaba และ JD ถึงแม้จะพบว่า Alibaba มียอดการเติบโตที่เหนือกว่า JD ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการใช้ Cloud Computing เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ หากแต่การเติบโตของธุรกิจใหม่ของ Alibaba นั้น กลับมีกำไรที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มหลักอยู่ดี ขณะที่ JD มุ่งเน้นการลงทุนระบบขนส่งและโลจิสติกส์มากกว่า เนื่องจากมีอัตรากำไรที่สูงและเติบโตเร็วกว่า แต่ทั้งนี้ก็เริ่มที่จะมีการขยายธุรกิจออกไปในแขนงอื่นๆ บ้างแล้วเช่นกัน
ข้อมูล : https://www.fool.com/investing/2019/08/20/better-buy-alibaba-vs-jdcom.aspx